สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081-7743466, 086-3341466

CASE STUDIES มาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538 )

(2) ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้หักได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
     ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 )
     ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 385) พ.ศ. 2544 )
     ( ดูประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 51) )
     การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าว ให้คำนวณหักตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.3/2527 )

(3) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจาก (6) ให้ถือตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติ และในกรณีที่มีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ส่วนทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลา และมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น
     ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2535 เป็นต้นไป )

(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน
     ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2522 เป็นต้นไป )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.57/2538 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.64/2539 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.95/2543 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.111/2545 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.123/2546 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.127/2546 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.129/2547 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.131/2548 )

(5) เงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทย ดังนี้
     (ก) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจาก (ข) ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา หรือทรัพย์สินเป็นเงินตราไทย ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ และให้คำนวณค่า หรือราคาของหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขาย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
     (ข) กรณีธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ให้คำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สินเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อ และอัตราขายของธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้
     ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2535 เป็นต้นไป )
     เงินตรา ทรัพย์สินหรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณค่า หรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ..ศ 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นใน พ.ศ. 2503 เป็นต้นไป )
     ( ดูประกาศกรมสรรพากร เรื่องการคำนวณค่าหรือราคาเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราถัวเฉลี่ยในวันสุดท้ายของปี พ.ศ.2548 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.68/2541 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.132/2548 )

(6) ราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย
     การคำนวณราคาทุนตามวรรคก่อน เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใด ตามวิชาการบัญชี ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้
     ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายเพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน รวมทั้งสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ เพื่อใช้ในการผลิตอัญมณีที่เป็นเครื่องประดับหรือของใช้ใดๆ และการนำเข้าหรือการขายทองคำขาว ทองขาว เงิน และพาลาเดียม เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม )

(7) การคำนวณราคาทุนของสินค้าที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยเทียบกับราคาทุนของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันที่ส่งเข้าไปในประเทศอื่นได้

(8) ถ้าราคาทุนของสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของวันที่ได้สินค้านั้นมา เว้นแต่เงินตราต่างประเทศนั้น จะแลกได้ในอัตราทางราชการ ก็ให้คำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราทางราชการนั้น
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ต้องยื่นในพ.ศ.2503 เป็นต้นไป )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.132/2548 )

(9) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
     ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) )
     ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 242 (พ.ศ. 2546) )
     ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 17 เมษายน 2546 )
     ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดสถาบันการเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจาก บัญชีลูกหนี้ )
     ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดสถาบันการเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 )
     หนี้สูญรายใดได้นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้ว หากได้รับชำระในภายหลังก็มิให้นำมาคำนวณเป็นรายได้อีก
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )

(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้ามารวมคำนวณเป็นรายได้
     ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 263 ) พ.ศ. 2536 สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ),br/>      (ก) บริษัทจดทะเบียน
     (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
     ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียน มีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าว โดยถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้
     เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไร ตามความในวรรคสอง
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 31 ธ.ค. 2534 เป็นต้นไป )
     ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.119/2545 )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.122/2545 )

(11) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว

(12) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงเท่าที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว และถ้าผู้รับเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและไม่เข้าลักษณะตามให้นำบทบัญญัติของ (10) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2522 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือหลัง 31 ธ.ค. 2522 เป็นต้นไป )
     ( ดูประกาศกรมสรรพากร (บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมฯ) )

(13) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาค หรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี มารวมคำนวณเป็นรายได้
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลัง 1 ม.ค. 2526 เป็นต้นไป )
     ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 )

(14) ภาษีขายซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับหรือพึงได้รับ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่มิใช่ภาษีตามมาตรา 82/16 ซึ่งได้รับคืนเนื่องจากการขอคืนตามหมวด 4 ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้
     ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30 ) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
     ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )

Ref. ประมวลรัษฎากร กรมสรรพากร
มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
http://www.rd.go.th/publish/5939.0.html

Comments (0)

Add a Comment